ประกาศ

ช่วงนี้ผู้เขียนกำลังทำงานด้านระบบคลาด์ Amazon Web Services (AWS) ให้พร้อมใช้งานกับประเทศไทยอยู่นะครับ อาจจะไม่ได้ลงบทความใหม่ๆ อีกสักระยะ สามารถเข้าดูข้อมูลได้ที่ www.gosky.co.th นะครับ

ขอบคุณที่ติดตามนะครับ

เริ่มต้นกับ Cloud Computing

"เทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงและเกิดใหม่เพียงชั่วข้ามคืน ไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนตาม เพียงแต่ต้องปรับตัวตามให้ทัน" ถึงเวลาเอาจริงเอาจังแล้ว กับเทคโนโลยี Cloud Computing คลื่นลูกใหม่ที่กำลังมาแรง และจะพัดมาถึงฝั่งประเทศไทย พร้อมเข้าถึงทุกองค์กรในปี 2015


The Theater by Krishan Bansal from Sony World Photography Awards 2015


เกี่ยวกับ Cloud Computing ท่านสามารถอ่านได้จากบทความก่อนหน้านี้นะครับ บทความนี้เราจะมาดูกันว่า เมื่อถึงเวลา Cloud เดินมาเคาะประตูบ้านองค์กรเราถึงที่ เจ้าบ้านต้องเตรียมตัวต้อนรับอย่างไร อะไรที่เราควรต้องทำและมีก่อน และ Cloud จะนำพาอะไรมามอบให้เรา

อิทธิพลของ Cloud Computing นั้นได้แผ่กระจายไปทั่วโลกอย่างรวดเร็ว มีผลตั้งแต่คนที่รับงาน Freelance ไปจนถึง Enterprise ข้อมูลจาก VMware บอกว่า 99% ขององค์กรใน Fortune 100 นั้นใช้ Product ของ VMware ซึ่งก็หนีไม่พ้นเรื่อง Virtualization และ Cloud Solution นั้นก็เพราะข้อดีและประโยชน์ของมัน ความคิดที่จะซื้อ Physical Hardware และ Software มาตั้งกองอยู่ในบ้านหรือองค์กร แล้วบริหารจัดการ ใช้งานได้แบบขาดๆ เกินๆ เป็นสิ่งล้าหลังและสิ้นเปลืองอย่างมาก

สำหรับธุรกิจขนาดองค์กร ได้เวลาพับแขนเสื้อขึ้น เปิดใจเปลี่ยนมุมมอง แล้วเริ่มปฎิบัติการชิงลงมือทำก่อนได้แล้วในวันนี้ ก็คือ

1. เปิดใจรับสิ่งใหม่
เจ้าพ่อวงการกล้องถ่ายรูปอย่าง KODAK ได้จากเราไปแล้วอย่างกู่ไม่กลับ NOKIA และ BlackBerry ยักษ์ใหญ่ก็หายวับไปกับตา ซึ่งหากย้อนกลับไปเมื่อ 5-8 ปีที่แล้วคงเป็นเรื่องฮาสุดๆ ที่จะพูดว่าเจ้าพ่อเหล่านี้จะเจ๊งในอีกไม่ช้า ในเบื้องลึกคงไม่มีใครรู้ว่าเกิดอะไรขึ้น แต่ที่แน่ๆ คือพวกเขาไม่เปิดใจและไม่ยอมรับกับเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและส่งผลกระทบโดยตรงต่อองค์กรและฐานลูกค้าของพวกเขาอย่างไม่น่าเชื่อ ในที่สุดก็สายเกินไป... เช่นเดียวกัน เทคโนโลยี Cloud Computing ที่กำลังเข้ามามีบทบาทและกำลังเปลี่ยนแปลงมุมมองด้านไอทีอย่างที่สุด ถึงเวลาที่เราจะเริ่มคุยกันแล้วว่า "จะใช้งานมันอย่างไร?" แทนที่จะมัวตั้งคำถามว่า "จะมันดีหรือไม่?"

2. ย้อนหลังประวัติงาน IT
เริ่มด้วยคำพูดที่ว่า "ของดีกว่า ถูกกว่า ง่ายกว่า แล้วทำไมจะไม่" นี้ไม่ใช่คำถามแต่เป็นเสียงที่บอกให้เริ่มออกตัว เริ่มต้นโดยการเอา Cost ที่เกิดขึ้นจากงานด้าน IT ทั้งหมดมากางบนโต๊ะแล้วจัดการแบ่งหมวดหมู่ให้เรียบร้อย อย่างเช่น ค่า Hardware Software, ค่าใช้จ่ายของห้อง Server, ค่าไฟ ค่าระบบความปลอดภัย, ค่าจ้างที่ปรึกษา ค่าติดตั้ง ดูแลระบบ, ค่าใช้จ่าย DR site, ความเสี่ยงต่างๆ แม้กระทั่งผลกระทบเมื่อพนักงาน IT มากความสามารถต้องมาลาออกเพราะรับผิดชอบงานมากมายตั้งแต่ Printer เสียไปถึงกู้ระบบเมื่อมันล่ม เหล่านี้คือสิ่งแรกๆ ที่เราต้องเริ่มทำและสรุปออกมาได้ตามหมวดหมู่และตัวเลข เมื่อถึงเวลาเราจะทราบได้ทันทีว่าระบบ Cloud จะเข้ามาช่วยเราในเรื่องไหนบ้าง ฝ่าย IT จะได้ทำในสิ่งที่ควรจะทำจริงๆ มากขึ้น เงินบางส่วนอาจไม่ต้องจ่ายอีกต่อไป ขณะเดียวกันระบบก็มีประสิทธิภาพและความน่าเชื่อถือสูงขึ้น สำหรับองค์กรใหม่ที่สนใจจะเริ่มใช้ Cloud แต่ยังไม่รู้เริ่มอย่างไร ให้ลองร่างจำนวนเงินลงทุนและค่าใช้จ่ายที่จะเกิดขึ้นในครั้งแรกและในแต่ละเดือน แล้วลองนำมาเปรียบเทียบกัน ทั้งในแง่การลงทุน ค่าใช้จ่าย การบริหารจัดการและประโยชน์ที่จะได้รับของทั้ง 2 แบบ เชื่อว่าไม่ทั้งหมดก็ส่วนหนึ่ง Cloud Solution จะสามารถตอบโจทย์และเทคโนโลยีทางเลือกที่ท่านจะไม่สามารถมองข้ามได้อย่างแน่นอน

3. เตรียมบุคคลากรให้พร้อม
เป็นอีกหนึ่งความท้าทายที่ถือว่าหินเลยครับ สำหรับการที่จะจัดกระบวนทัพของบุคคลากรให้พร้อมสำหรับเรื่องอะไรที่ใหม่และมีผลกระทบต่อชีวิตประจำวันหรือการทำงาน เพราะเรื่อง "คน" เป็นอะไรที่ละเอียดอ่อนและซับซ้อนกว่าที่คิด สำหรับองค์กรขนาดเล็กคงไม่ใช่เรื่องใหญ่ซักเท่าไหร่ แต่กับองค์กรขนาดใหญ่ที่มักจะมีพลังงานบางอย่างสถิตอยู่เสมอ...ลองคิดกันดูนะครับว่าถ้ามีกองร้อยธนู กองร้อยดาบ กองร้อยหอก แน่นอนว่าครบเครื่อง รบร้อยครั้งชนะร้อยครั้ง แต่อยู่มาวันนึ่งแม่ทัพใหญ่ภูมิใจนำเสนอกองร้อยปืนกลเข้ามา! คิดว่าจะเกิดอะไรขึ้นครับ? กองร้อยปืนกลนี้อาจจะไม่เหลือซากเพราะสามกองแรกจะเปิดฉากถล่มกองร้อยปืนกลเป็นอย่างแรง หาไม่แล้วบทบาทตัวเองจะลดลงหรือถูกยุบไปเลยก็เป็นได้ ซึ่งนี้ถือเป็นจุดอันตรายและน่าคบคิดที่สุดเลยก็ว่าได้ เพื่อให้ทุกคนยังอยู่ในสภาวะสมดุล การวางแผนและรูแบบการนำเสนอจึงถือเป็นเรื่องสำคัญมาก ต้องแสดงให้ทุกคนเห็นว่ากองร้อยปืนกลจะมีผลดีกับกองทัพของเราแค่ไหน อย่างไร ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว เมื่อทุกคนเข้าใจและได้รับผลประโยชน์ร่วมกันก็จะผ่านไปได้ด้วยดี แน่นอนว่ากองร้อยปืนกลคือ Cloud Computing ครับ

สำหรับบุคคลที่จะมารับหน้าที่ดูแลระบบ Cloud ขององค์กรคงต้องเน้นไปที่ทักษะด้านการสื่อสารและการบริการ เพราะมุมมองที่เปลี่ยนของของระบบ IT กลายเป็น IT as a Service ซึ่งเป็นเรื่องของการให้บริการเป็นหลัก ส่วนเรื่อง Technical เป็นรองดำเนินการอยู่หลังบ้าน เพราะนี้คือหัวใจหลักของระบบ Cloud และเป็นสิ่งที่ทุกคนคาดหวังจะได้รับจากผู้จัดการระบบ Cloud นั้นเอง

4. แบ่งประเภทของ Application และระดับความสำคัญของข้อมูล
ถึงแม้ว่าระบบ Cloud จะพูดนักพูดหนาว่าปลอดภัยไร้กังวล ได้รับมาตฐานต่างๆ มากมาย สามารถรองรับการทำงานของระบบได้แทบทุกรูปแบบ แต่นั้นก็ไม่ได้ความว่าเราจะต้องเอาทุกอย่างไปไว้ใน Cloud ตัวอย่างเช่น ข้อมูลที่มีความสำคัญระดับสูง หรือ ระบบที่การใช้งานส่วนใหญ่เกิดขึ้นภายในองค์กร ประเภทเหล่านี้ควรจะอยู่ภายในองค์กรเองซึ่งก็อาจจะเป็น Private Cloud แบบ on-premise ก็ได้ ดังนั้นเราควรจะต้องพิจารณาเพื่อจัดกลุ่มข้อมูลหรือระบบ ว่าอะไรบ้างที่จะต้องทำงานอยู่ภายในองค์กรเท่านั้น และอะไรบ้างที่สามารถนำไปใช้ใน Public Cloud แต่ก็ต้องไม่ลืมว่าการลงทุนสร้าง Private Cloud เพื่อใช้งานภายในก็ไม่ใช่เรื่องง่ายซะทีเดียว เพราะต้องใช้ทรัพยากรทุกอย่างแทบจะเหมือนกับ Traditional Infrastructure และยังจะต้องมีผู้จัดการดูแลระบบที่ทำงานได้เป็นอย่างดีอีกด้วย เหตุนี้เอง Cloud Service Provider (CSP) และเจ้าของ Product ต่างๆ จึงได้มีนำเสนอรูปแบบของ Cloud ไว้หลากหลายมาก เช่น Private Cloud on-premise, Private Cloud off-premise, Dedicated Server (Private Cloud) in Public Cloud, Virtual Private Cloud in Public Cloud, Hybrid Cloud หรือ Public Cloud พร้อมด้วยบริการแบบ Managed หมายความว่า CSP จะเป็นผู้ดูแลตั้งแต่ Hardware ไปจนถึงระดับ Application ได้เลย ซึ่งแต่ละแบบก็มีจุดเด่น จุดด้อยแตกต่างกันออกไป ทั้งเรื่อง Compliance, Security, Performance, Flexibility, Pricing เป็นต้น ซึ่งประเด็นนี้ผมจะขยายความและอธิบายถึงรายละเอียดกันในบทความต่อไป

สรุปง่ายๆ คือเราจะต้องแยกประเภทของแอพพลิเคชั่นและข้อมูลตามระดับความสำคัญให้ได้ แล้วจึงพิจารณาค่อยๆ ทยอยย้ายทีละส่วนไปใช้งานในระบบ Cloud ตามความเหมาะสม ไม่มีใครที่จะสามารถตัดสินได้ว่าสิ่งไหนสำคัญ สิ่งไหนไม่สำคัญ สิ่งไหนควร สิ่งไหนไม่ควร นอกจากตัวคุณและองค์กรเอง

5. มองหาที่ปรึกษาและ Cloud Service Provider ที่ดีและไว้ใจได้
ส่วนใหญ่แล้ว CSP จะพร้อมให้คำปรึกษาและช่วยเหลือเราได้ตั้งแต่เริ่มต้นไปจนถึงทำให้ระบบพร้อมใช้งานจริง จากที่ได้ลองเช็คเรื่องราคาและเปรียบเทียบเรื่องการให้บริการทั้งในและนอกประเทศแล้ว ต้องยอมรับว่า CSP ต่างประเทศมีความพร้อมในการให้บริการสูงกว่าพอสมควร แต่นั้นก็แฝงมาราคาที่สูงลิ่วและขั้นตอนการดำเนินการที่จะซับซ้อนโดยเฉพาะการสื่อสาร นอกจากนี้ Data Center ก็จะตั้งอยู่ที่ต่างประเทศอีกด้วย ซึ่งคงจะเป็นอุปสรรคพอสมควรสำหรับบางประเภทธุรกิจและความพร้อมด้านต่างๆ ขององค์กร ข้อมูลเพิ่มเติม "เลือกใครดี? ระหว่าง Local กับ Global Cloud Service Providers" ดังนั้น การเลือกใช้ CSP ภายในประเทศจึงเป็นตัวเลือกที่น่าสนใจ ซึ่งจะเลือกใช้บริการจากเจ้าไหนนั้นก็ให้ลองพิจารณาจากองค์ประกอบหลายๆ อย่าง เช่น Product ที่ให้บริการเป็นยี่ห้ออะไร, ความยากง่ายในการบริหารจัดการระบบด้วยตนเอง, ระดับความสามารถในการ Support ของ CSP, ฟังก์ชั่นและเครื่องมืออำนวยความสะดวกต่างๆ ที่จะสามารถนำไปประยุกต์ใช้ต่อยอดได้ หรือแม้กระทั่ง ความน่าเชื่อและความมั่นคงของตัวบริษัท เราต้องไม่ลืมว่า CSP นั้นต้องลงทุนสูงมากในการที่จะสร้างระบบ Cloud Computing ที่ดีขึ้นมาได้การบริการหลังการขาย และทีมงานที่จะคอยช่วยเหลือจึงถือเป็นเรื่องสำคัญมากอีกเช่นกัน

ระบบ Cloud Computing เป็นเทคโนโลยีที่ออกแบบมาเพื่ออำนวยความสะดวก ยืดหยุ่น มีประสิทธิภาพสูง ช่วยลดต้นทุนและค่าใช้จ่ายได้ หากแต่ต้องได้รับการออกแบบ ดูแล และการบริหารจัดการที่ดีอย่างสม่ำเสมอ รวมถึงการเลือกใช้บริการจาก CSP ที่เหมาะสม เพื่อให้สามารถตอบโจทย์ ตอบสนองตรงต่อความต้องการและเกิดประสิทธิผลสูงสุดในตัวระบบและแก่ผู้ใช้งานนั้นเองครับ

ณัฐพล เทพเฉลิม
1 มีนาคม พ.ศ. 2558


Share on Google Plus

About Unknown

This is a short description in the author block about the author. You edit it by entering text in the "Biographical Info" field in the user admin panel.
    Blogger Comment
    Facebook Comment