กระแส Cloud Computing ในบ้านเราน่าจะกลับมาคึกคักและมีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น เพราะเมื่อไม่นานมานี้ยักษ์แดง TRUE ได้จับมือกับเจ้าป่า Amazon Web Services (AWS) ในการเป็นตัวกลางทั้งด้าน Commercial และ Technical เรียบร้อยแล้ว (ขอบคุณข้อมูลข่าวจาก techtalkthai ด้วยครับ) ซึ่งจะเป็นการช่วยเปิดตลาด Public Cloud ในบ้านเราได้เป็นอย่างดี สำหรับรายละเอียดของ Project นี้ก็คงต้องติดตามกันต่อไปว่าทาง TRUE และ AWS จะออก Promotion หรือ Package อะไรที่จะเป็นประโยชน์ต่อลูกค้า เพื่อเบนเข็มให้ลูกค้าเลือกใช้บริการผ่าน TRUE แทนที่จะไปใช้บริการโดยตรงกับ AWS ซึ่ง ณ ปัจจุบัน Data Center ของ AWS ที่อยู่ใกล้ประเทศไทยมากที่สุดก็คือประเทศสิงค์โปร์ ซึ่ง Service ต่างๆ ที่จะใช้งานได้ผ่าน TRUE ก็คงล้อตาม Data Center ของ AWS ที่มีอยู่ที่นั้นอย่างเลี่ยงไม่ได้ สำหรับประโยชน์ที่ลูกค้าจะได้รับเมื่อใช้บริการผ่าน TRUE ในเบื้องต้นก็คือเรื่องการจ่ายเงินที่คงไม่ต้องจ่ายผ่านบัตร Credit, การสื่อสารกับคนไทยด้วยกันเอง, การช่วยเหลือ Support ที่จับต้องได้มากขึ้น และเรื่องแบรนด์ช่วยเพิ่มความมั่นใจให้กับลูกค้า สำหรับในแง่ของ Technical นั้นก็ต้องรอดูกันต่อไปนะครับ
ถึงแม้ทาง TRUE จะหันมาสนใจในธุรกิจ Cloud Computing แต่ก็ต้องไม่ลืมว่าโดย Nature แล้ว TRUE ไม่ได้ทำธุรกิจด้าน System Integrator (SI) โดยตรง นั้นหมายถึงถ้ามองในเชิงลึกแล้วจิกซอว์อีกชิ้นที่จำเป็นจะต้องมีนั้นก็คือ Cloud Solution/Consultant Provider หรือพูดง่ายๆ ก็ผู้ที่จะทำหน้าที่หลักในการลงมือปฎิบัติ หรือ Operation man ที่จะช่วยเหลือลูกค้าโดยตรงและคอยให้คำปรึกษาในเชิงลึกทั้งก่อน ระหว่างใช้ Public Cloud และในกรณีที่ลูกค้าจะเลือกใช้บริการจาก Cloud Service Provider เจ้าอื่นที่ไม่ใช่ AWS ด้วยเช่นกัน แน่นอนครับไม่ใช่ทุกองค์กรจะเลือกใช้ Public Cloud กันหมด ยังคงมีระบบที่จำเป็นต้องใช้อยู่ใน Private Cloud หรือ Non Cloud อยู่อีกเป็นจำนวนมากและอาจไม่มีวันถูกย้ายไป Public Cloud เลยด้วยซ้ำ ในขณะเดียวกันก็ต้องใช้งาน Public Cloud ไปพร้อมๆ กัน จิกซอว์ตัวนี้เองที่ยังเป็นประเด็นและเป็นคำถามที่น่าสนใจอย่างยิ่ง ว่าจะหันหน้าไปหาปรึกษาใคร? และอีกหนึ่งการบ้านใหญ่สำหรับ TRUE และ Providers เจ้าต่างๆ นั้นก็คือจะทำอย่างไรให้ลูกค้าเข้าใจและจับต้องความจริงจากคำโฆษณาที่ว่า "ดีกว่า ถูกกว่า เร็วกว่า เสถียรกว่า ปลอดภัยกว่า” มันคืออะไรกันแน่? แล้วมันจริงหรือ?
ในยุคสมัยที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็วของเทคโนโลยี และเราทุกคนกำลังก้าวเข้าสู่โลกของ Cloud Computing ทั้งที่รู้ตัวและไม่รู้ตัว ไม่ว่าจะเป็น Private หรือ Public Cloud โดยเฉพาะเรื่องของ Public Cloud นั้น คงเปรียบได้กับยุคที่เพิ่งมีธนาคารเงินฝากถือกำเนิดขึ้น นึกไม่ออกเลยจริงๆ ว่าสมัยนั้นเขาทำกันอย่างไรให้คนกล้าเอาเงินจำนวนมากออกมาจากไหฝั่งดินใต้ถุนบ้านแล้วไปฝากไว้กับสถานที่แห่งหนึ่งเรียกว่าธนาคาร จริงๆ ก็คงไม่พ้นเรื่องผลตอบแทน (ดอกเบี้ย) ที่สมัยก่อนให้มากถึง 20% แต่ปัจจุบันเหลือเพียง 0.5% นั้นก็เป็นไปตามกลไกและการทำตลาดที่สุดยอดเลยครับ นั้นถือได้ว่าเป็นยุคสมัยใหม่สำหรับเรื่องเงินๆ ทองๆ เลยทีเดียว ไม่ต่างอะไรกับยุคของ Public Cloud ที่ลูกค้าจะต้องเลือกนำระบบ IT รวมถึงข้อมูลที่สำคัญเฉกเช่นเงินสดไปเก็บและให้มันทำงานอยู่ใน Cloud ซึ่งสถานที่แห่งนั้นก็คือ Cloud Service Provider เปรียบเสมือนธนาคารที่ปัจจุบันเราได้ก้าวข้ามคำว่า "เชื่อใจ" และ" ปลอดภัย" เป็นที่เรียบร้อยแล้ว และทุกคนกำลังมองหาคำว่า "สะดวก" และ "ผลตอบแทน" จากธนาคารอยู่ใช่ไหมหล่ะครับ? อย่างไรก็ตามไม่ใช่ทุกอย่างหรือเงินทุกบาทที่เราจะเอาไปฝากไว้กับธนาคาร ยังคงมีสิ่งของบางอย่างหรือเงินสดบางส่วนที่เรายังคงอยากเก็บติดตัวไว้ หรือเก็บไว้ที่บ้านใส่ตู้เซฟอย่างดีและจำกัดการเข้าถึงด้วย ด้วยเหตุผลนี้เหล่านี้เอง จึงบอกได้เลยว่าครับ ไม่ใช่ทุกอย่างที่เราจะย้ายไป Public Cloud ถึงแม้ในทาง Technic จะทำได้ก็ตาม นี้จึงเป็นสิ่งหนึ่งที่สำคัญและต้องพิจารณาอย่างรอบคอบครับ
Cloud Computing นั้นแบ่งออกเป็น 3 ประเภทด้วยกัน คือ private, public และ hybrid สำหรับรายละเอียดสามารถดูได้จาก ที่นี้ครับ ในภาคของ private cloud ก็ยกให้เจ้าพ่อ Virtualization อย่าง VMware ไปอย่างไม่ต้องพูดถึง แต่สำหรับ public cloud เป็นที่น่าสนใจอย่างยิ่ง เพราะจากข้อมูลย้อนหลังไป 4-5 ปี (2010-2014) ตำแหน่งใน Gartner เรื่อง Cloud Infrastructure as a Service มีการเปลี่ยนแปลงตำแหน่งชนิดพากันงงไปเลยทีเดียว บางเจ้าโผล่มาเหนือเมฆ บางเจ้าหายลงทะเล ภาพด้านล่างเป็นของช่วง May 2014 รายละเอียดสามารถดูได้จาก http://aws.amazon.com/resources/download-gartner-report/
จาก Gartner ด้านบนจะเห็นว่า AWS ทิ้งเพื่อนร่วมอุดมการณ์ไปอย่างไม่ใยดี โดย AWS นั้นทำงานอยู่บนเทคโนโลยีชื่อ XenServer เป็น OpenSource ที่มี Citrix อยู่เบื้องหลัง หากท่านได้ลองเข้าไปศึกษาข้อมูลของ AWS อย่างลึกๆ จะสัมผัสได้ว่า AWS นั้นมี Product และ Solution ให้เลือกใช้มากมาย เข้าใจง่ายและดูเหมือนว่ามันจะตอบโจทย์ได้หลายโจทย์เลยทีเดียว รวมถึงการมี marketplace เพื่อเปิดโอกาสให้ลูกค้าเลือกใช้บริการจากคู่ค้ารายอื่นๆ ช่วยเสริมความสามารถของตัวระบบลูกค้าให้ดียิ่งขึ้นไปอีกนั้นเอง
Microsoft ทำงานอยู่บนเทคโนโลยีชื่อ Hyper-V ซึ่งเป็นของ Microsoft เอง ไม่รู้ด้วยเหตุผลอันใดทำให้ Microsoft เคยหลงทางไปตั้งชื่อว่า Public Cloud ของตัวเองว่า Windows Azure ซึ่งปัจจุบันเปลี่ยนเป็น Microsoft Azure เพราะจริงๆ แล้วไม่ได้มีแต่ Windows ที่อยู่ใน Azure แต่ยังมี OS อื่นๆ ให้เลือกใช้งานและสามารถทำงานใน Azure ได้ เช่น Linux เป็นต้น Azure นั้นเน้นหนักไปทางเทคโนโลยีที่เป็นของตัวเองซึ่งนี้อาจเป็นเหตุผลที่เกิดข้อจำกัดบางอย่างในการพัฒนาระบบก็เป็นได้
ส่วน VMware ตอนนี้มุ่งมั่นกลืนกินตลาด Private Cloud และพัฒนา Software Defined Data Center (SDDC) อย่างไม่ลดละ ทำให้ภาค Public Cloud นั้นสอบตกไปพอสมควร ร่วมถึงเทคโนโลยีหลายๆ อย่างที่ต้องที่คิดเองพัฒนาเองอยู่บน Platform ตัวเอง เช่น เรื่อง Network, Security, Load Balance หรือ Storage ซึ่งก็ออกไปแนวเดียวกับ Microsoft แต่วิธีการแบบนี้มีผลดีในแง่ของการเป็น Single Solution หรือ Unified Platform ที่่ทาง VMware ภูมิใจนำเสนอ จนไปตั้งชื่อ Public Cloud ของตัวเองเป็น Hybrid Cloud Service ซึ่งฟังดูแล้วจะงงๆ ว่าจะเป็น Hybrid ได้ไงถ้ามีแต่ Public Cloud อย่างเดียว (vCloud Air สามารถใช้งานได้โดยไม่จำเป็นต้องมี Private Cloud) ต่อมาจึงได้เปลี่ยนชื่อเป็น vCloud Air เพื่อให้สอดคล้องกับกลุ่มลูกค้าที่กว้างขึ้น แต่ฟังก์ชั่นความสามารถต่างๆ นั้นเหมือนเดิม ข้อดีของ vCloud Air อีกอย่างก็คือสามารถเชื่อมต่อกับ vSphere/vCloud Suite ซึ่งเป็น solution และ product ของ VMware เอง จุดนี้ถือเป็นการต่อยอดเพื่อใช้ประโยชน์จาก Hybrid Cloud ได้เต็มที่กว่า เพราะฟังก์ชั่นบางอย่างต้องเป็น VMware กับ VMware เท่านั้นถึงจะใช้ได้ แน่นอนว่าเมื่อตลาด private เป็นของเขา public cloud ก็คือตลาดถัดไป เราคงได้เห็น VMware ขยับตำแหน่งขึ้นไปเรื่อยๆ อย่างแน่นอนครับ
จุดเริ่มต้นของการใช้ Cloud นั้นสำหรับแต่ละคนหรือแต่ละองค์กรนั้นจะแตกต่างกันออกไป ขึ้นอยู่กับ Environment ทั้งด้านระบบวัตถุและระบบคน รวมถึงประเภทธุรกิจด้วย ทุกอย่างมีข้อเด่นและข้อด้อย ข้อดีและข้อเสียเสมอครับ เช่นเดียวกับตอนที่เราจะเปลี่ยนจาก mobile phone ไปเป็น smartphone เราก็ควรต้องทำการสำรวจตัวเองก่อนว่า เราต้องการอะไร? รุ่นไหน ยี่ห้อไหนตอบโจทย์เราได้มากที่สุด โดยตัดว่าคำ Bias หรือทิศถิออกไป เมื่อผลออกมาเป็น iphone ราคา 35K หรือ android ราคา 10K หรือแม้กระทั่งคำตอบคือ mobile phone เหมือนเดิมและเครื่องเดิม นั้นแหละคือสิ่งที่คุ้มค่าและเหมาะสมที่สุดสำหรับคุณครับ ดังนั้นเพื่อให้เห็น Pros & Cons ของ IT Infrastructure แต่ละแบบ ตารางด้านล่างผมได้ใส่ข้อมูลตามหัวข้อต่างๆ โดยไม่ได้อิงจากยี่ห้อใดๆ และเป็นลักษณะภาพรวมเท่านั้น ซึ่งมันขึ้นอยู่ Environment ต่างๆ ขององค์กรด้วยนะครับ
อย่าลืมนะครับ! ว่าการเริ่มต้นและการใช้งาน Private กับ Public Cloud รวมถึง Hybrid Cloud นั้นเป็นหนังคนละเรื่องกันเลย ถึงแม้จะมีคำว่า Cloud เหมือนกัน และเป็น Virtualization เช่นเดียวกันก็ตามมันมีรายละเอียดอีกมากพอสมควร ซึ่งจักได้ทยอยเขียนและถ่ายทอดต่อไปครับ
Blog ถัดไป เราจะมาว่าวิเคราะห์ข้อมูลและเหตุผลจากตารางด้านบนกันนะครับ
ขอบคุณที่ติดตามอ่านครับ
ณัฐพล เทพเฉลิม
Blogger Comment
Facebook Comment